สำหรับทีมชาติไทยชุดใหญ่ภายใต้การคุมทีมของ มิโลวาน ราเยวัช มีโปรแกรมเก็บตัว ในช่วงการแข่งขันs]หลังจากที่ฟุตบอลลีกภายในประเทศจบเลกแรกในวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 โดยมีสองทางเลือกคือการเดินทางไปทวีปยุโรป หรือเก็บตัวในประเทศไทย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับนานาชาติจำนวน 1 นัด
โดยทางด้านของ กรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด กล่าวว่า
“ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ได้มีการพูดคุยกันเรื่องการเก็บตัวของทีมชาติไทยกับทางสโมสรสมาชิกในระดับ ไทยลีก 1 และ ไทยลีก 2
ซึ่งก็วางสองทางเลือก คือการพาทีมชาติชุดใหญ่ไปเก็บตัวที่ยุโรป และทางเลือกสอง ก็คือเก็บตัวในไทย ในส่วนตรงนี้ก็ต้องรอสรุปกับทางนายกสมาคมฯ และทาง มิโลวาน ราเยวัช อีกที ก็ต้องขอบคุณทุกสโมสรที่ร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนะมาให้กับทางสมาคมฯ”
ขณะที่ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และ โฆษกสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า
“ทาง มิโลวาน ราเยวัช ได้แจ้งความจำนงว่ามีความกังวลเกี่ยวกับฟีฟ่า เดย์ ช่วงครึ่งปีหลัง เพราะสโมสรมีเกมการแข่งขันในลีกที่แน่น และยังเป็นช่วงที่สำคัญ
เพราะจะมีการตัดสินเรื่องการลุ้นแชมป์และหนีตกชั้นค่อนข้างตึงเครียด นั่นหมายความว่า ฟีฟ่า เดย์ ในช่วงกันยายนนั้น เราจะคืนช่วงเวลานั้นให้กับทางฟุตบอลลีก โดยไม่มีการหยุดพักในช่วงดังกล่าว”
“และเราก็จะขอเวลาในช่วงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก เพราะมันกลายเป็นธรรมเนียมแล้วว่า 21 วันก่อนฟุตบอลโลก ทีมชาติต่างๆจะมีการทดลองจัดตัวผู้เล่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฟุตบอลโลก เพราะลีกยุโรปก็จบหมดแล้ว ดังนั้นทีมชาติต่างๆก็จะหาทีมอุ่นเครื่อง แม้บางทีมจะไม่ได้ไปฟุตบอลโลกเองก็ต้องการหาทีมทำการแข่งขัน”
“เราก็เลยมองว่าเรามีสองทางเลือก หนึ่งคือเดินทางไปยุโรป ซึ่งข้อดีก็คือ จะทำให้เรามีสมาธิ, เวลา, คุณภาพ, สภาพแวดล้อม, สนามซ้อม, การใส่แท็คติก และการอยู่ร่วมกันจะดีกว่าที่ประเทศไทย และจะทำให้โค้ชได้รู้จักนักกีฬามากขึ้น”
“ส่วนทางเลือกที่สอง คือการเก็บตัวที่ประเทศไทย และทำการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติหนึ่งเกมกับทีมที่มี ฟีฟ่า แรงกิ้ง สูงกว่า ซึ่งวันนี้ก็ชี้แจงและเรียนให้สโมสรสมาชิกได้ทราบ และได้รับความเห็นมาบ้าง โดยทางสมาคมฯ ก็จะรีบสรุปและประกาศต่อไป”
“ตอนนี้ เราก็ทำไปทั้งสองทาง และทั้งสองแบบก็พร้อมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ว่าเราว่าจะเลือกแบบไหนก่อนจะลงนามเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ โดยตอนนี้ก็รอทางฟีดแบ็คจากทางสโมสรอีกครั้ง ซึ่งฟีดแบ็คในห้องประชุมก็ได้มองเห็นข้อดีและข้อเสียของทั้งสองทางเลือก”
“เพราะการไปที่ยุโรป จะทำให้เราได้เตรียมแผนการเล่นยามเป็นทีมเยือน ซึ่งทีมชาติไทยเคยเล่นในบ้านมาแล้วในคิงส์ คัพ ขณะที่เราจะต้องเตรียมทีมในเรื่องของการไปเยือน
ทั้งใน ซูซูกิ คัพ และ เอเชียน คัพ ดังนั้นเราก็อยากจะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องภาวะการเดินทาง และการเล่นเป็นทีมเยือนดูบ้าง ถ้าทำได้ตามนี้ก็ดี
แต่ทางสโมสรเองก็ต้องการให้นักเตะได้พักผ่อนเต็มที่ในช่วงพักเบรค ถ้าซ้อมในประเทศ จะมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บก็จะมีการช่วยเหลือและฟื้นฟูได้เร็วกว่า”
“คือในช่วงพฤษภาคม มันเป็นช่วงพักเบรคอยู่แล้ว แน่นอนว่าจะไม่กระทบต่อปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลลีก และเราจะไม่มีการแข่งขันระดับทีมชาติในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฟีฟ่า เดย์
แต่ในขณะเดียวกันอาจจะมีผลกระทบต่อบางสโมสร ที่มีนักเตะต่างชาติที่้ต้องถูกเรียกตัวติดทีมชาติแทน”
สำหรับการแข่งขันฟุตบอล เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 ในปีนี้จะมีเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน โดยไม่มีเจ้าภาพ โดยจะจัดในช่วงระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2561 ขณะที่ฟุตบอล เอเชียน คัพ 2019 ที่ สหรัฐ อาหรับ เอมิเรตส์ จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 5 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2562